วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สำหรับใช้เพื่อการบังคับคดีเท่านั้น #บทที่1.เมื่อจำเลยทำงานที่ UN ผมคิดอะไรอยู่...?

เมื่อจำเลยทำงานที่ UN ผมคิดอะไรอยู่...?

โชคงามยามดีอยากลองวิชาและนึกสนุก จังหวะดีมีงานบังคับคดีที่จำเลยที่1,2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำงานเป็น รปภ.ขององค์การสหประชาชาติ( UN ) แต่ที่ผมและหลายคนไม่เคยรู้เลยคือ ไอ้ รปภ.UN เนี่ย เงินเดือนมันเดือนๆนึงมากกว่าเงินเดือนผม 2เดือนรวมกันเสียอีก


เนื้อหาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีอะไรมาก เงินต้น80,000บาท ผ่อนเดือนละไม่น้อยกว่า3,000บาท ห้ามผิดนัดหากผิดนัดถึงเริ่มคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี หากไม่ผิดนัดเลยก็ไม่มีดอกเบี้ย(เนื้อหาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ง่ายๆ ตามนี้)
เงินเดือนจำเลยต่อคนเกือบแสน ผ่อนเดือนละไม่ต่ำกว่า3,000บาทต่อเดือน ถ้าจำเลยมีวินัยและสำนึกต่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ก็คงไม่มีปัญหา ผ่อนเบาๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาติดตามให้หงุดหงิดใจ


แล้วกำหนดชำระหนี้งวดแรกก็มาถึง...ผลคือ..? ผิดนัด จำเลยชำระหนี้ล่าช้าไป16วัน (คดีนี้ต่อเนื่องมาจากคดีเช่าซื้อ ซึ่งแต่เดิมต้องผ่อนค่างวดรถเดือนละเกือบหมื่นสอง และให้จ่ายค่างวดล่าช้าได้เรทไม่เกิน3วัน) เอาแล้วไง! ต้องให้พนักงานมาเสียเวลาโทรแจ้งโทรติดตามอีกแล้ว... แต่ไม่เป็นไรไม่มีวินัยในการชำระหนี้เยี่ยงนี้ อะ! รายงานศาลก่อน ขอออกหมายบังคับคดีและตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรอเลยแล้วกัน

งวดที่1 ผ่านไปไวปานวอก งวดที่2 มาถึง
หึหึ...ผิดนัดชำระหนี้อีกแล้ว เอาไงดีว่ะ! โทรเลยมั๊ย! ตามเลยมั๊ย!
แต่เหตุการณ์ดันกลับกัน หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก และชำระหนี้ตามที่ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความล่าช้าถึง 16วัน และมาผิดนัดอีกในงวดที่2 แต่หลังจากนั้นอีก 7วัน จำเลยที่1 กลับเป็นฝ่ายติดต่อกลับมาก่อน

หลังจากจำเลยติดต่อเข้ามา หาข้อมูลคดีและแนะนำตัวเสร็จสรรพแล้ว
บทสนทนา
จำเลยที่1: ผมอยากปิดบัญชี! เงินผมมี! แต่จะขอลดหนี้ลงจากที่ตกลงที่ศาลอีก
พนักงานเจ้าหนี้ : หนี้ลดลงไม่ได้แล้วครับ เพราะตกลงกันไว้ที่ศาลแล้ว เรามีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ตกลงครับ
จำเลยที่1: ถ้าหนี้ไม่ลด! ผมก็ไม่จ่ายปิดบัญชีหรอก ถึงจะมีเงิน พวกคุณก็ตามเก็บที่ผมผ่อนไปแล้วกัน
พนักงานเจ้าหนี้ : ได้ครับ! ตามที่ว่าเลย! แต่คุณพี่ผิดนัดแล้วนะครับ ยังไงรบกวนชำระหนี้ให้ตรงตามที่ตกลงด้วยนะครับ
แล้วการเจรจาก็สิ้นสุดลง...( ผิดนัดแล้วมาห้าวมีชั้นเชิงกับเจ้าหนี้อีก)

แล้วงวดที่2...ก็ชำระเข้ามาแต่ชำระล่าช้า ถึง15 วันอีกแล้ว (ต้องให้พนักงานโทรไปเตือน ซึ่งผมย้ำว่าไม่จำต้องเตือน) ไม่มีวินัยในการชำระหนี้อีกแล้ว อะ! ไม่เป็นไร หมายบังคับคดีออกแล้วครับ


งวดที่3...ชำระล่าช้าอีกแล้ว เงินเดือนเกือบแสนแต่เอาอีกแล้วครับคุณพี่ อะ! ไม่เป็นไร พนักงานเจ้าของคดีไปตามที่บ้านหน่อยซิ! ไม่ได้ไปตามหนี้หรอก แต่ไปเพื่อสืบทรัพย์บังคับคดีต่างหาก
แต่เมื่อไปถึงแล้วพบเจอกัน ก็พูดคุยหน่อยละกัน...ตามประสาคนมี้หนี้ต่อกัน ผิดนัดบ่อยเลยนะครับ!
มาแจ้งแล้วนะครับ!
ไม่ผิดนัดนะครับ!
ไม่ตามอีกแล้วก็ซีเรียสนะครับ!
แล้วก็นั่นไง! งวดที่3...3วันก็แล้ว...7วันก็แล้ว...เอ้า 15 วันก็แล้ว...30วันผ่านไป งวดที่3ยังไม่ยอมจ่าย วินัยทางการเงินแย่มาก
ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและออกหมายบังคับคดีเพราะลูกหนี้ผิดนัดแล้วครับ
และระหว่างนั่งดูจำเลยผิดนัดชำระหนี้เพลินๆ ชอบชำระหนี้ตามอัธยาศัย ไร้วินัยทางการเงิน
ทางการสืบทรัพย์...อืม
จำเลยที่1 กรรมสิทธิ์ที่ดิน2แปลง พร้อมบ้าน2หลัง ย่านบึงกุ่ม จำนองน้อยๆ ราคาทรัพย์ท่วมหนี้จำนอง + รปภ.UN เงินเดือนสูงลิบ
จำเลยที่2 กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านย่านลาดพร้าว ติดจำนองไม่สูงแต่ถูกเจ้าหนี้อื่นยึดไว้ แต่ราคาทรัพย์ยังสูงกว่าหนี้แบงค์และหนี้โจทก์ที่ยึดอยู่มาก + รปภ.UN เงินเดือนสูงลิ่ว
เฮ้ย...แล้วนี่มันคืออะไร ให้ผ่อนหนี้เดือนละแค่3,000 แต่ห้ามผิดนัด นี่พวกคุณมันไร้วินัยชัดๆ คงถึงเวลาที่พวกเราต้องสนุกกันแล้วนะครับ






คดีนี้ถ้าใช้มุมมองแบบทนายบังคับคดีแล้ว ถือว่าคดีนี้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน การที่จะทำให้ได้หนี้คืนโดยเร็วไม่ยุ่งยาก และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสภาพบังคับอยู่หลายอย่าง มีกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่หลายแปลง ซึ่งพนักงานเจ้าของคดีก็ทราบดีอยู่

แต่สิ่งที่ผมให้โจทย์...? แก่พนักงานเจ้าของคดีไปคิดและทำการบ้านคือ คดีนี้ไม่ให้ยึดกรรมสิทธิ์บ้านแต่ให้อายัดเงินเดือนจำเลยเท่านั้น....เอาแล้วไง! พนักงานเจ้าของคดีลูกน้องผมเองงานเข้าล่ะ!

***สิ่งที่คนทำงานด้านบังคับคดีรู้และเข้าใจต่อการบังคับคดีลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีการอายัดเงินเดือน ผมพูดง่ายๆก็คือ
1.ถ้าทำงานบริษัทฯ หรือ หจก. ก็แค่คัดหนังสือรับรองบริษัทฯ หรือ หจก. นายจ้างจำเลย คัดทะเบียนบ้านจำเลย แล้วก็ไปดำเนินการอายัดกับกรมบังคับคดีได้แล้ว
2.ถ้าทำงานพวกรัฐวิสาหกิจ พวกไฟฟ้า ประปา ก็ไม่ต้องมีเอกสารอะไร อายัดได้เลย แค่แถลงภูมิลำเนาที่ตั้งนายจ้างเพื่อนำส่งหมายแจ้งการอายัดเงินเดือน
3.ถ้าจำเลยเป็นข้าราชการ อันนี้เลิกยุ่ง หรือถ้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของราชการ อันนี้เราจะไม่แตะเพราะมันยุ่งยากซับซ้อนมากซึ่งเอาเวลาไปตามสืบทรัพย์บังคับคดีโดยวิธีอื่นจะรวดเร็วกว่า
โดยคร่าวๆ ก็จะมีเพียงเท่านี้

แล้วการทำงานการบังคับคดีโดยวิธีอายัดเงินเดือนครั้งนี้ล่ะ! ลูกน้องผมจะจัดการอย่างไรเมื่อโจทย์ที่ผมให้เจ้าของคดีไปคืออายัดเงินเดือนเท่านั้น
เจ้าของคดีจะจัดการคดีอย่างไรให้ได้หนี้คืน..? ในเมื่อจำเลยไร้วินัยทางการเงินก็ต้องเร่งจัดการ

โจทย์ก็คือให้อายัดเงินเดือน รปภ.องค์การสหประชาชาติ
แล้วนี่คือสิ่งที่พนักงานเจ้าของคดีคิด...?
-จะอายัดเงินเดือนอย่างไรในเมื่อนายจ้างไม่ใช่บริษัท
-จะส่งหมายอายัดเงินเดือนอย่างไรในเมื่อนายจ้างจำเลยก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ
-แล้ว UN เนี่ยอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยหรือเปล่า
-การจะอายัดเงินเดือนต้องแถลงส่งหมายไปที่ไหน ไปหาใคร? ประเทศไทยหรือต่างประเทศ
-จะหาเอกสารประกอบในการแถลงส่งหมายให้แก่นายจ้างจำเลยจากที่ไหน
-จะลองโทรไปสอบถามข้อมูลจาก UN ประจำประเทศไทยก็คงไม่มีใครบอก
-ใครที่ตำแหน่งใหญ่ที่สุดของ UN ประจำประเทศไทยก็หาข้อมูลชื่อหรือตำแหน่งไม่ได้
-องค์การสหประชาชาติ เป็นส่วนราชการของประเทศไทยหรือไม่
-หากอายัดเงินเดือนแล้วนายจ้างไม่ส่งเงินอายัดจะทำอย่างไร
-หากโดนร้องศาลเพิกถอนการอายัดจะทำอย่างไร
แล้วปัญหาก็ร้อยแปดประการ จนทำให้การคิดจะบังคับคดีจำเลยโดยวิธีการอายัดเงินเดือน รปภ.UN คดีนี้ไม่มีความคืบหน้า



โจทย์นี้เจ้าของคดีแก้ปัญหาไม่ตก มันจึงต้องเริ่มคิดกันใหม่ และด้วยความล่าช้า
ผมจึงต้องเช็คข้อมูล UN ประจำประเทศไทยจากอินเตอร์เนทใช้เวลา5 นาทีแล้วปริ๊นซ์ที่ตั้ง UN จากหน้าเวปไซด์มาให้ แล้วสั่งการใหม่
1.ไม่ต้องคิดมาก
2.ถือกระดาษแผ่นนี้( ที่อยู่ UN ปทท. ) พร้อมคำขออายัดเงินเดือน และแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจำเลย(ทร.14) ไปที่กรมบังคับคดีเพื่อ ทำการอายัดเงินเดือนเลย
3.ให้ทำการอายัดเฉพาะจำเลยที่1ก่อนเท่านั้น(เกรงว่าหากอายัดจำเลยที่2 ด้วย จำเลยอาจจะยิงกันตายก่อน เพราะจำเลยเป็น รปภ.ที่พกปืน)
4.ไม่ต้องกลัวมีปัญหา เดี๋ยวจัดการเอง
5.อะไรที่ไม่รู้แล้วคิดมากอยู่ เดี๋ยวไปอายัดแล้วจะรู้เรื่องเอง
ตอนนี้ผมไม่อยากสอนอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะเสียเวลาล่าช้าให้เจ้าของคดีคิดมาหลายวันแล้วให้ไปรู้ไปคิดเอาหน้างานเลย

แล้วการทำงานบังคับคดีในคดีนี้ก็ได้เริ่มขึ้น
พนักงานเจ้าของคดีหายตัวไปทำงานที่กรมบังคับคดีตั้งแต่เช้า 5 ชั่วโมงผ่านไป สิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ยังไม่รายงานผลการทำงาน
แล้วก็ต้องโทรไปตาม...แล้วก็จริงอย่างที่คิด งานยังไม่เสร็จ...แต่สิ่งที่ได้รับรายงานมาเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่คาดไว้ แต่พนักงานเจ้าของคดีก็มีคำตอบปิดท้ายมาให้ว่า"เสร็จแน่นอนครับ" แต่วุ่นกันทั้งกองอายัดตั้งแต่เช้าจนถึงตอนนี้

และนี่คือสิ่งที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดซึ่งทำให้พิจารณาสั่งอายัดเงินเดือนจำเลยล่าช้า และวุ่นทั้งกองอายัด หลักๆก็คือ
-อายัดได้เหรอ
-มีกฎหมายให้อำนาจไว้หรือเปล่า
-ต้องส่งหมายแจ้งการอายัดไปยังใคร? ไปที่ไหน? ต้องใช้เอกสารอะไรประกอบบ้าง(เพราะโจทก์ปริ๊นกระดาษไปนำส่งแค่ใบเดียว)
-มีกฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองอยู่หรือเปล่า
-และที่สำคัญคือ ถ้าโดนร้องเพิกถอนการอายัดขึ้นมา ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรับผิดหรือไม่ เพียงไร อย่างไร ซึ่งข้อนี้สำคัญสุดสำหรับการทำงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ซึ่งเพียงคิดปัญหาเท่านี้ก็ทำให้การทำหน้าที่ตามหมายบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีล่าช้าถึง5-6ชั่วโมง เพื่อหาข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆ และก็นี่ล่ะคือเจตนาที่แท้จริงของผม

ส่วนคำปิดท้ายของพนักงานเจ้าของคดีนี่ล่ะ! ที่ว่า"เสร็จแน่นอนครับ"จึงทำให้คลายใจว่างานสำเร็จแน่ ตามแผนที่วางไว้ และพนักงานเจ้าของคดีคงได้แนวคิดหรือวิชาอะไรเพิ่มเติม ขึ้นมาก
และเมื่อเวลาล่วงจนเย็น พนักงานกลับมารายงานผลความสำเร็จในการบังคับคดีโดยวิธีการอายัดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ รปภ. UN ครั้งนี้ ซึ่งในใจคงดีใจพร้อมยังคงสงสัยอยู่ว่าทำงานสำเร็จมาได้อย่างไร เหตุใดเรื่องที่คาดว่ายากจึงสำเร็จลงได้ และตัวพนักงานเจ้าของคดีคงทราบถึงความยุ่งยากในการทำงานครั้งนี้ เพราะได้ประสบปัญหาในการประสานงานกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจริงๆ จึงคงภูมิใจอยู่ไม่น้อย ถึงผลสำเร็จเบื้องต้น

#ทนายแจ็ค
#Power of attorney


มีภาคต่อ...บทที่2

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น